ผื่น คืออาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะบวมและระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง ผื่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งโรคผิวหนังบริเวณปาก หรือผื่นรอบปากที่แสดงอาการคล้ายๆกันเป็นผื่นแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองที่รอบริมฝีปาก แต่กลับเกิดจากสาเหตุต่างแตกต่างกัน เช่น รูขุมขนอักเสบ หรือ แพ้สารเคมีก็ได้ รอยแดงอาจมีขนาดเล็ก แต่สามารถสร้างความกังวลให้คุณอย่างมาก ยิ่งถ้าผื่นเกิดการติดเชื้อ อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดขึ้น เช่น พุพองเป็นแผล หากรอยแดง หรือผื่นที่ปาก เป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจที่คุณต้องการจัดการในตอนนี้ งั้นเรามาดูสาเหตุและการดูแลกันเลยค่ะ
อาการของผื่นรอบปาก
อาการของผื่นรอบปาก มีตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของผื่นที่แตกต่างกันออกไป ผื่นอาจทำให้รู้สึกเจ็บ ปวดหรือไม่มีอาการเจ็บก็ได้ มีหนองหรือไม่มีน้ำข้างในก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะที่คล้ายกันเช่น:
- ตุ่มเล็ก ๆ
- ขึ้นเป็นกลุ่มๆ
- รอยแดง
- อาการคัน
- รู้สึกแสบร้อน
- ผิวแห้ง
- ผิวเป็นสะเก็ด
- มีรอยแตกที่มุมปาก
- แผลพุพอง
- แผลอาจมีหนอง
- แผลตกสะเก็ด
สาเหตุทั่วไปของผื่นรอบปาก
1. ผื่นจากการอักเสบรอบปาก
ความผิดปกติของผิวหนังนี้ทำให้เกิดผื่นแดงรอบปากเป็นเม็ดๆคล้ายสิวซึ่งอาจทำให้รู้สึกแสบร้อนผิวลอก อาจเกิดซ้ำๆในช่วงหลายเดือนหรือหลายปีและมักพบในผู้หญิง
ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคผิวหนังรอบปากได้ แต่ผื่นนั้นเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกหลายประการ เช่น
- อาจใช้ยาสเตียรอยด์มากเกินไป
- ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
- เลียริมฝีปากมากเกินไป
- เครื่องสำอาง
- การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
- การติดเชื้อราและแบคทีเรีย
- โลชั่นและครีมกันแดดบางชนิดที่มีค่า SPF สูงอาจทำให้เกิดผื่นได้
2. ผื่นแพ้สัมผัส
ผื่นแพ้เกิดจากผิวมีอาการอักเสบหลังการสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารเคมี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง และผิวหนังอักเสบจากการแพ้ ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสทั้งสองแบบอาจมีอาการแดงคัน อาจลามเป็นแผลที่มีหนอง หรือแผลพุพองได้ หากเกา ขีดข่วนหรือถูกรบกวน อาการเหล่านี้อาจเกิดจากน้ำลายไหล หรือเลียริมฝีปาก ใช้เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์กำจัดขน แว๊กซ์ขน ยาสีฟัน อาหารที่เป็นกรดเผ็ดร้อนต่างๆ หรือแม้แต่เครื่องประดับ
3. กลาก
ผิวหนังติดเชื้อราเกิดผื่นแดงอักเสบรอบปากและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอาจทำให้รู้สึกคันและแสบร้อน กลากบริเวณปากอาจถูกกระตุ้นด้วยอากาศ ความร้อนหรืออุณหภูมิที่ร้อนจัดเช่น ตากแดด เหงื่อ แช่น้ำร้อนจัด ความเครียด และสารระคายเคืองจากสิ่งแวดล้อมที่พบในผลิตภัณฑ์ดูแล ผิวเช่นสบู่
4. ผื่นพุพอง
เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่ผิวติดเชื้อแบคทีเรีย โดยผิวหนังจะมีแผลพุพอง มีน้ำอยู่ข้างใน หรือบางครั้งอาจเป็นตุ่มหนอง แตกง่าย เมื่อแตกออกมาแล้วจะมีสะเก็ดสีน้ำตาลหรือเหลือง เกิดขึ้นได้บ่อยบริเวณใบหน้า ปาก มือและเท้า และสามารถลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้การติดเชื้อนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็กและสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา
5. ผื่นลมพิษ
ผื่นลมพิษ มักบวม นูน แดง มีขนาดไม่แน่นอน คล้ายตุ่มยุงกัด หรือมดกัด หรือคล้ายแผนที่ เกิดขึ้นที่บริเวณใดของร่างกายก็ได้ ผื่นลมพิษรอบปาก เรียกว่า angioedema เป็นอาการบวมใต้ชั้นผิวหนังเนื่องจากร่างกายผลิตฮีสตามีนเพื่อต่อสู้กับผู้รุกราน เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ผื่นอาจมีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง เป็นหย่อม ๆ ซึ่งอาจมีอาการบวมที่ผิวโดยรอบมีอาการคันและแสบร้อน เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ที่พบในอาหาร ยา หรือความเครียด
6. ผิวไหม้จากสารเคมี
การสัมผัสสารเคมีที่เป็นเบสหรือกรดอย่างแรงกับผิวหนังโดยตรง อาจทำให้เกิดผื่นแดงระคายเคืองแผลพุพอง หรือแผลที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด สารเคมีรุนแรงเหล่านี้พบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน น้ำมันเบนซิน ทินเนอร์ สีฯ
7. โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน หรือ เซ็บเดิร์ม
เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง ถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่มีสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน เช่น ระดับของฮอร์โมนที่แปรปรวน หรือการติดจากเชื้อยีสต์ เชื้อราบางตัว การเกิดผื่นเซ็บเดิร์มเป็นการอักเสบจากภายใน ไม่ใช่การแพ้สัมผัสจากภายนอก มักเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น ภาวะเครียดทางจิตใจ ทำงานหนัก ใกล้สอบ อดนอน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นเซ็บเดิร์ม และอาจเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ เช่น HIV โรคพากินสัน หรือโรคระบบทางเดินประสาทบางชนิดรวมถึงจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
สาเหตุอื่น ๆ ของผื่นรอบปาก
ผื่นรอบปากอาจเกิดจากสภาวะสุขภาพอื่น ๆ และปัจจัยภายนอกเช่น:
- ไวรัสเริม การติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ทำให้เกิดแผลพุพองที่เจ็บปวด
- ผื่นแพ้ยา ปฏิกิริยาตามหลังการติดเชื้อเช่นไวรัสเริม หรือการได้รับยาแล้วเกิดผื่นแดง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากการจับตัวของอิมมูนคอมเพล็กซ์ (ส่วนใหญ่เป็นIgM) ในหลอดเลือดขนาดเล็กชั้นตื้นของผิวหนังและเยื่อเมือกในช่องปาก
- ปากนกกระจอก มุมปากอักเสบ ยิ่งเลียพอน้ำลายแห้งเป็นผื่นที่มุมปาก เจ็บคันหรือแผลพุพองที่อาจมีเลือดออก
- สิวผด รูขุมขนอุดตันบริเวณปากซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาหาร และยา เป็นตุ่มสีแดงหรือสีขาวขนาดเล็ก
- โรคสิวหน้าแดง Rosacea เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่มีการอักเสบของผิวหนังโดยไม่
ทราบสาเหตุชัดเจน เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการระคายเคืองต่อสิ่งแวดล้อม และพันธุกรรมค่ะ - รูขุมขนอักเสบติดเชื้อ การอักเสบของรูขุมขนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราทำให้เป็นตุ่มหนองได้
- กลากที่หน้า จากการติดเชื้อรา ทำให้ผิวหนังอักเสบมักเป็นวงสีแดงมีขุยสะเก็ดขาวรอบๆบนใบหน้าส่วนที่ไม่มีขนในผู้หญิง
- โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังที่ทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว มีอาการคันเจ็บปวด
- ผิวไหม้แดด ปฏิกิริยาของผิวหนังที่อักเสบเมื่อถูกยูวีมากเกินไป อาการตุ่มแดงปวดหรือมีแผลพุพอง
การลุกลามของผื่นรอบปาก
- ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้แก้ไข หรือป้องกันที่ต้นเหตุ
- เป็นมากขึ้นจากการรักษา เช่นการใช้สเตียรอยด์นานเกินไป หรือยากดภูมิ
- เป็นลักษณะหรืออาการเฉพาะ เช่นลุกลามออกไปได้เรื่อยๆ
การรักษาผื่นรอบปาก
อาการผื่นรอบปากมักหายเองได้ แต่บางกรณีควรพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาหรือวิธีทางการแพทย์อื่นๆ ร่วมกับการดูแลรักษาด้วยตัวเอง
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงผื่นรอบปาก
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอาจช่วยรักษาและป้องกันผื่นรอบปาก คำแนะนำต่อไปนี้อาจบรรเทาอาการแดงบวมและปวดได้
- ทำความสะอาดบริเวณที่ได้เป็นด้วยสบู่อ่อนๆ
- แล้วตามด้วยน้ำเย็นโดยใช้การตบเบา ๆ ห้ามขัดถู
- ตบผิวรอบปากเบา ๆ เมื่อล้างหน้า
- หากสงสัยว่าเกิดจากฟลูออไรด์ หยุดใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ ใช้ยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์
- ใช้น้ำร้อนซักผ้าขนหนูและผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน
- ใช้ครีมกันแดดที่ใบหน้าและริมฝีปาก
- ใช้เทคนิคการผ่อนคลายและโยคะเพื่อคลายความเครียด
- หลีกเลี่ยงการเลียริมฝีปากตลอดเวลา
- ทานอาหารคำเล็กลง เพื่อไม่ให้ปากและผิวหนังโดยรอบตึงเกินไป
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เค็มจัดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ให้ความชุ่มชื้นโดยการดื่มน้ำมาก ๆ
- ไม่ลอก แคะ แกะ เกา ดึงผิวริมฝีปากที่แห้งเป็นขุย
- อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือสารเคมีที่รุนแรง
ผื่นรอบปากอาจไม่น่าดู และรู้สึกเจ็บในบางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแผลถูกรบกวนและมีการติดเชื้อ การใช้ยาสเตียรอยด์บางครั้งกลับทำให้เชื้อลามและดื้อ ควารปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้
ผื่นประเภทต่างๆบนใบหน้า มักมีรอยแดงหรือมีแผลที่คล้ายกัน ซึ่งมีสาเหตุทั่วไปบางอย่าง เช่น สารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้และสารเคมีรุนแรงที่พบในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว รวมถึงหลีกเลี่ยงการทดลองผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เช่น ลิปสติก บลัชออน และเทสเตอร์ต่างๆด้วยนะคะ
Credit: source1, source2, source3, source 4, source5, source6